ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่กำลังมองมาพนักงานมาร่วมด้วยช่วยกันให้องค์กรก้าวไปสู่การทำงานในยุคดิจิทัลอาจจะกำลังสับสนกับชื่อตำแหน่งที่คล้ายกันแต่ทำงานแตกต่างกัน หรือชื่อตำแหน่งต่างกันแต่มีขอบเขตความรับผิดชอบเดียวกัน เนื่องจากรูปแบบการทำงานในปัจจุบันมีบริบทที่แตกต่างจากอดีตอย่างมาก อาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ก่อนที่จะประกาศหาเพื่อนร่วมงานคนใหม่ อย่าลืมใส่ใจนิยามของชื่อตำแหน่งต่าง ๆ อย่างถ้วนถี่อีกครั้ง
1. Chief Executive Officer (CEO)
ผู้บริหารระดับสูงสุดที่รับผิดชอบการตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ มองเป้าหมายระยะไกล มอบวิสัยทัศน์ให้องค์กร จัดการการปฏิบัติงานโดยรวม และการจัดการทรัพยากร ความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กรจึงขึ้นอยู่กับความสามารถและการคิดตัดสินใจของ CEO เป็นส่วนใหญ่ สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ CEO จะทำทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อสื่อสารระหว่างผู้ถือหุ้นกับระดับปฏิบัติงานของบริษัท สำหรับบริษัทขนาดเล็ก CEO กับผู้ก่อตั้งอาจเป็นคนเดียวกัน บางแห่งเรียกว่า Chief Executive, President หรือ Managing Director
2. Chief Operating Officer (COO)
ผู้บริหารงานฝ่ายปฏิบัติงาน รับผิดชอบดูแลภาพรวมของระบบระเบียบการทำงานทั่วไปในแต่ละวันให้สอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร คอยแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน มอบหมายงานให้พนักงานแต่ละคนอย่างเหมาะสม และรายงานผลการทำงานต่อ CEO อย่างใกล้ชิด ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการ กระบวนการทำงานในแต่ละแผนก แต่ละขั้นตอน บางแห่งอาจเรียกว่า Executive Vice President of Operations, Chief Operations Officer หรือ Operations Director
3. Chief Financial Officer (CFO)
ผู้บริหารงานฝ่ายการเงินและการบัญชี รับผิดชอบเกี่ยวกับการกระทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเงินขององค์กร คอยติดตาม ตรวจสอบกระแสเงินสด วิเคราะห์แผนทางการเงิน งบประมาณ และการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด คอยควบคุมการใช้จ่ายขององค์กรในแต่ละแผนกให้มีการเบิกจ่ายอย่างถูกต้อง และปฏิบัติงานได้อย่างเสร็จสมบูรณ์ รวมทั้งประมาณการค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่าง ๆ ไปจนถึงสานสัมพันธ์กับนักลงทุน หุ้นส่วนด้วย CFO ต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ ตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด ประเมินสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำจากการติดตามข้อมูลทางการเงินขององค์กรอย่างต่อเนื่อง
4. Chief Marketing Officer (CMO)
ผู้บริหารงานฝ่ายการตลาด รับผิดชอบภาพรวมและการวางแผนเกี่ยวกับการตลาด และงานโฆษณาขององค์กร มีอำนาจการตัดสินใจสูงสุดในแผนกของการขายและการให้บริการแก่ลูกค้า และการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า คอยทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยทางการตลาด ราคาสินค้า ผลิตภัณฑ์คู่แข่ง การสื่อสารการตลาด และงานประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางที่หลากหลาย เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายขององค์กร ทั้งในด้านรายได้ และภาพลักษณ์ที่ดี บางแห่งอาจเรียกว่า Marketing Director หรือ Global Marketing Officer
5. Chief Technology Officer (CTO)
ผู้บริหารงานฝ่ายเทคโนโลยี รับผิดชอบการพัฒนาสินค้าและบริการ หรือวิธีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในองค์กรที่ผลิตสินค้าเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะทำธุรกิจใดก็จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้วยกันทั้งสิ้น เป็นผู้คอยแนะนำการตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยน ลงทุนเกี่ยวกับนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายขององค์กร จึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ คอยติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่เสมอ
6. Chief Customer Officer (CCO)
ผู้บริหารงานฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ รับผิดชอบดูแลประสบการณ์ ความพึงพอใจของลูกค้า ดำเนินการให้ส่วนต่าง ๆ ขององค์กรสอดประสานไปกับคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ กระชับความสัมพันธ์ของลูกค้าและคอยให้คำปรึกษาพนักงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า อำนวยความสะดวกให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างความสำเร็จของลูกค้า (Customer Success) ได้เป็นผลสำเร็จ เป็นตำแหน่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการขยายตัวของเทรนด์ธุรกิจประเภท Software-as-a-Service หรือการให้บริการซอฟต์แวร์
7. Chief Product Officer (CPO)
ผู้นำการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ รับผิดชอบกลยุทธ์ ตัดสินใจเกี่ยวกับเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล อธิบายไว้ว่า CPO คือ นักผลิตไอเดีย เป็นผู้เนรมิตให้วิสัยทัศน์ แรงบันดาลใจของ CEO กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จับต้องได้ พัฒนาไปต่อได้อย่างชัดเจน มีความรู้ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ ทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้ม การออกแบบ การผลิต การพัฒนา การจัดการขนส่ง ฯลฯ เป็นผู้ที่รักษาสมดุลระหว่างความจำเป็นในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และเป้าหมายหลักขององค์กร บางแห่งอาจเรียกว่า Vice President of Product, Head of Product, Product Head
8. Chief Data Officer (CDO)
ผู้บริหารงานฝ่ายข้อมูล ดูแลรับผิดชอบการใช้ประโยชน์ และควบคุมภาพรวมของข้อมูลสารสนเทศในฐานะสินทรัพย์ขององค์กร มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ภาพรวมและทิศทางของธุรกิจที่กำลังดำเนินไป แต่ให้ความสำคัญกับข้อมูลเป็นสำคัญ มีทักษะเกี่ยวกับการจัดการข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ประเมินคุณภาพของข้อมูลได้ และบูรณาการกับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และอำนวยความสะดวกให้แก่ทุกภาคส่วนที่ต้องการใช้งานข้อมูล
9. Chief Human Resources Officer (CHRO)
ผู้บริหารงานฝ่ายบุคคล ดูแลทรัพยากรบุคคลในองค์กร ด้วยการวางแผนจัดการให้คนที่มีความสามารถได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ พัฒนาทักษะของพนักงานให้เป็นไปตามแผนธุรกิจและเป้าหมายขององค์กร ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการบริหารทรัพยากรบุคคล และเข้าใจธรรมชาติของการทำงานในแต่ละฝ่ายเป็นอย่างดี บางแห่งอาจเรียกว่า Chief Personnel Officer หรือ Chief People Officer, Human Resources Director หรือ Vice President of Human Resources.
10. Product Owner
ตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญในการทำงานแบบ Scrum ซึ่งอาจเป็นทีมเฉพาะกิจที่มารวมตัวกันพัฒนาโครงการใดโครงการหนึ่ง โดย Product ที่ว่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าที่จับต้องได้ อาจจะเป็นบริการหรือโปรแกรมต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน มีหน้าที่รับผิดชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การเริ่มออกไอเดีย การผลิต การพัฒนา เพิ่มมูลค่า ไปจนถึงการวางขายในตลาด จึงต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์ผู้ใช้งาน (User Experience) ข้อมูลด้านเทคนิค เทคโนโลยี หลักพื้นฐานในการสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการใดขึ้นมา และการตัดสินใจเกี่ยวกับการตลาดด้วย
11. Scrum Master
Scrum Master เป็นหัวหน้าทีมในการทำงานด้วยแนวคิดแบบ Scrum ซึ่งต้องทำงานพัฒนาไอเดียแต่ละ Sprint ในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อเข้าสู่วงรอบถัดไปเป็นระยะจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ Scrum Master จึงต้องคอยอำนวยความสะดวกให้คนในทีมทำหน้าที่ของตัวเอง (Self Manage) ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการใคร เป็นผู้นำที่ต้องดูแลทุกคนในทีม จัดหาทรัพยากร สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน ปกป้องลูกทีมจากปัจจัยภายนอกให้ได้มากที่สุด บางครั้งจึงเรียกว่า Servant Leader
12. Customer Success Manager
ผู้จัดการความสำเร็จของลูกค้า คอยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากกลุ่มเป้าหมายกลายมาเป็นลูกค้าประจำ รับผิดชอบการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว ชวนให้ลูกค้าเก่าลองใช้สินค้าใหม่ ๆ เป็นตำแหน่งที่ผสมกันระหว่างฝ่ายบริการลูกค้ากับฝ่ายขาย เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ ช่วยแก้ไขปัญหา ช่วยให้คำแนะนำระหว่างการตัดสินใจซื้อสินค้า จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง เพื่อสื่อสารกลับไปยังฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด และฝ่ายพัฒนาสินค้าต่อไป
13.Administrator
เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ รายละเอียดงานจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร แต่ละแผนก โดยหลักการแล้วตำแหน่งนี้จะเป็นผู้ดูแลงานเอกสาร ส่งต่อข้อมูลประสานงานแต่ละฝ่าย ดูแลการจัดสรรทรัพยากรในการทำงาน อาคารสถานที่ รับโทรศัพท์ เป็นตำแหน่งที่ทำให้ฝ่ายต่าง ๆ สามารถโฟกัสกับงานหลักของตนเองได้อย่างเต็มที่ จึงต้องมีคุณสมบัติที่หลากหลายทั้งมนุษยสัมพันธ์ ความละเอียดรอบคอบ และการสื่อสารที่แม่นยำ ชัดเจน
14. Creative Marketing
นักการตลาดเชิงสร้างสรรค์ มีหน้าที่คิดค้นหาวิธีการนำเสนอเนื้อหา ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือแบรนด์ในรูปแบบที่แปลกใหม่ ทดสอบไอเดียกับกลุ่มเป้าหมาย ค้นคว้าข้อมูลทางการตลาดเพื่อมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างแคมเปญ นำเทคนิคด้านศิลปะ การออกแบบประสบการณ์มาใช้เพิ่มยอดขาย สร้างการรับรู้ที่มากขึ้น นอกจากความรู้ความเข้าใจด้านการขายและการตลาดแล้ว หากมีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมศาสตร์ เทรนด์ฮิตที่คนในสังคกำลังสนใจ เทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่ หรือศาสตร์ด้านอื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับการตลาด แต่จะช่วยให้การคิดสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ เกิดตามมาได้อีกไม่รู้จบ
15. Media Buyer
ฝ่ายจัดซื้อสื่อ ดูแลกระบวนการจัดซื้อสื่อต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดของสื่อ เข้าใจเป้าหมายของแผนการตลาดและกลุ่มเป้าหมายทางการค้าเป็นอย่างดี หน้าที่สำคัญคือการต่อรองกับเจ้าของพื้นที่สื่อช่องทางต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบป้ายโฆษณาตามพื้นที่สาธารณะไปจนถึงพื้นที่เสมือนในแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกับงบประมาณ ช่วงเวลาที่กลุ่มเป้าหมายจะได้พบเห็นมากที่สุด ในระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด และคอยประเมิน วัดผลการซื้อสื่อแต่ละชนิด เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการตัดสินใจซื้อสื่อในครั้งต่อไป
16. Web Developer
นักพัฒนาเว็บไซต์ เป็นรูปแบบหนึ่งของโปรแกรมเมอร์ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการสร้างเว็บไซต์ด้วยการเขียนโปรแกรมผ่านภาษาคอมพิวเตอร์ เช่น JavaScript (JS), Ruby on Rails หรือภาษา C++ โดยเน้นไปที่ฟังก์ชันการใช้งาน ออกแบบโครงสร้างการทำงานในเว็บไซต์ โดยแบ่งเป็น Front-End Developers ซึ่งดูแลส่วนที่เปรียบเหมือนหน้าบ้าน นั่นคือหน้าเว็บไซต์ที่ผู้ใช้งานได้สัมผัส (User Interface) ความสวยงาม สีสัน รูปภาพ การกดเลือกเมนูต่าง ๆ ส่วน Back-End Developers จะคอยดูแลระบบหลังบ้านที่ผู้ใช้งานมองไม่เห็น เช่นฐานข้อมูล ชุดคำสั่งต่าง ๆ เพื่อให้การใช้งานลื่นไหลเป็นไปตามปกติที่ควรจะเป็น
17. User Experience Designer
นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน เป็นผู้ที่มีหน้าที่ออกแบบปฏิสัมพันธ์ที่ผู้ใช้งานจะได้สัมผัสผ่านหน้าเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูล ค้นหาความต้องการของผู้ใช้งานในเชิงลึก ทดสอบพฤติกรรม การรับรู้ต่าง ๆ ระหว่างผู้ใช้งานกับระบบคอมพิวเตอร์ ดูแลการออกแบบในภาพรวมด้วยความเข้าใจองค์ประกอบทางศิลปะ รวมถึงการออกแบบวิธีการเล่าเรื่องผ่านโครงสร้างข้อมูลที่จัดเรียงอย่างเป็นระบบ โดยยึดหลักการที่ช่วยให้มนุษย์ใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ (Human Computer Interaction: HCI)
18. Social Media Specialist
ผู้ดูแลโซเชียลมีเดีย รับผิดชอบเกี่ยวกับการสร้างเนื้อหา วางแนวทางการสื่อสาร และการติดตามความเป็นไปของโซเชียลมีเดียในทุกแพลตฟอร์มขององค์กร เพื่อเพิ่มผู้ติดตาม สร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย คอยตรวจสอบสถิติการเข้าถึงผู้อ่าน ตอบคอมเมนต์ด้วยความเข้าใจในอัตลักษณ์ขององค์กรและความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้ใช้งานแต่ละแพลตฟอร์มซึ่งมีความแตกต่างกัน เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ และสอดคล้องกับเป้าหมายหลักขององค์กรที่ต้องการเพิ่มยอดขาย หรือสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์
19. Data Analyst
นักวิเคราะห์ข้อมูล เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ ค้นหา Business Insight ค้นพบความผิดพลาดที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เปลี่ยนตัวเลขที่ดูยาก ซับซ้อนให้เป็นข้อสรุปง่าย ๆ ที่ทุกคนฟังแล้วเข้าใจได้ทันที ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลแต่ละชุดที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน เพื่อสนับสนุนแผนกอื่น ๆ ในการพัฒนาสินค้าหรือบริการ บางครั้งอาจต้องอาศัยการดัดแปลงข้อมูลให้นำเสนอออกมาเป็นแผนภาพ หรือโมเดลทางสถิติ
20. Virtual Assistant
ผู้ช่วยเสมือน ปฏิบัติงานทางไกลในตำแหน่งผู้ช่วย ไม่ต้องมีการสร้างสำนักงานขนาดใหญ่มาเพื่อรองรับผู้ช่วยเหล่านี้ แต่เป็นการจ้างงานเป็นรายบุคคลเพื่อทำงานจัดการเอกสาร ตอบคำถามลูกค้า วางแผนการดำเนินงาน หรือทักษะอื่น ๆ ที่องค์กรผู้จ้างงานต้องการ มีทั้งระดับช่วยจัดการงานทั่วไป จนถึงระดับทักษะขั้นสูงเฉพาะทาง โดยจะมีการกำหนดขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น มักมีการจ้างงานรูปแบบนี้ในองค์กรที่เป็นผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้น หรือธุรกิจออนไลน์ ซึ่งต้องการลดค่าใช้จ่าย
------- การตามหาคนที่ใช้ เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ และการเข้าใจในรายละเอียดแต่ละตำแหน่ง จะทำให้สามารถออกแบบงานได้เหมาะสมกับความต้องการธุรกิจมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจในการสร้างธุรกิจใหม่ ตั้งแต่การออกแบบไอเดียธุรกิจ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงินวางแผนการบริหาร และวางแผนการปฏิบัติการ สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรการสร้างสรรค์และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจใหม่ รุ่น 2 (Mini MBA - New Business Creation & Feasibility Analysis #2) ได้ที่ https://www.neobycmmu.com/mini-mba-new-business-creation
อ้างอิง
https://zapier.com/blog/job-titles-matter/
https://masschallenge.org/article/important-startup-roles
https://www.indeed.com/career-advice/starting-new-job/business-roles
https://www.indeed.com/career-advice/resumes-cover-letters/startup-job-title https://www.proxyclick.com/blog/the-benefits-of-creative-job-titles-being-used-in-the-workplace
https://www.investopedia.com/terms/c/ceo.asp
https://corporatefinanceinstitute.com/resources/careers/jobs/what-is-a-ceo-chief-executive-officer/
https://business.linkedin.com/talent-solutions/resources/talent-engagement/job-descriptions/chief-operating-officer
https://www.roberthalf.co.nz/our-services/finance-accounting/cfo-jobs
https://www.paladinstaff.com/jobs/careers/chief-marketing-officer-job-description/
https://corporatefinanceinstitute.com/resources/careers/designations/chief-marketing-officer-cmo/
https://www.smartkarrot.com/resources/blog/chief-customer-officer/
https://blog.totango.com/2021/07/the-role-of-a-chief-customer-officer/
https://www.depa.or.th/th/article-view/5-startup
https://www.productplan.com/glossary/chief-product-officer/
https://www.smartkarrot.com/resources/blog/chief-product-officer-cpo/
https://www.bmc.com/blogs/chief-data-officer/
https://www.cio.com/article/3234884/what-is-a-chief-data-officer.html
https://www.the-future-of-commerce.com/2021/03/11/what-is-a-chief-data-officer-cdo/
http://www.cioworldmagazine.com/why-cdo-chief-data-officer/
https://www.shrm.org/resourcesandtools/tools-and-samples/job-descriptions/pages/chief-human-resource-officer.aspx
https://marketbusinessnews.com/chief-human-resources-officer-chro/
https://airfocus.com/glossary/what-is-a-product-owner/
https://www.thumbsup.in.th/what-does-product-owner-do
https://www.coursera.org/articles/what-is-a-scrum-master
https://www.techopedia.com/definition/14013/scrum-master
https://marketbusinessnews.com/financial-glossary/administrator-definition-meaning/
https://www.roberthalf.com.au/employers/administration/administrator-jobs
https://www.zippia.com/creative-marketing-manager-jobs/
https://www.ziprecruiter.com/e/What-Is-a-Creative-Marketing-Job
https://www.marketingevolution.com/marketing-essentials/media-buying
https://www.celarity.com/job-description/media-buyer/
https://www.techopedia.com/definition/17353/web-developer
https://www.careerexplorer.com/careers/web-developer/
https://www.techopedia.com/definition/29136/user-experience-designer-ux-designer
https://www.celarity.com/job-description/social-media-specialist/
https://brainstation.io/career-guides/what-does-a-social-media-specialist-do
https://blog.hubspot.com/service/customer-success-manager
https://www.zendesk.com/blog/customer-success-manager/
https://www.parlor.io/blog/customer-success-managers/
https://www.agilealliance.org/glossary/scrum-master/#q=~
https://kooper.co/th-7-online-work-needed/
https://www.investopedia.com/terms/v/virtual-assistant.asp
https://www.thebalancesmb.com/virtual-assistant-1794441
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/data-analyst-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD/
https://www.techopedia.com/definition/33638/data-analyst
https://www.coursera.org/articles/what-does-a-data-analyst-do-a-career-guide
https://blog.datath.com/data-scientist-vs-data-analyst-work/
Comments