top of page

Business Ideation ค้นหาไอเดียที่ใช่ สร้างธุรกิจใหม่ได้ไม่ซ้ำ



ในโลกที่คนจำนวนมากเชื่อว่า “ไม่มีอะไรใหม่อีกต่อไป” แต่เราก็ยังคงเลือกที่จะมองหาสิ่งใหม่ ๆ กันอยู่เสมอ ยิ่งในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นรายวินาที การค้นหาไอเดียทางธุรกิจที่ไม่ซ้ำซากจำเจจึงเป็นสิ่งที่นักธุรกิจต้องคอยวิ่งตามให้ทัน ศึกษาวิธีการคิดให้ถ้วนถี่มากกว่าการเป็นผู้วิ่งตามเทรนด์ที่คนอื่นสร้างขึ้นมา


หลายคนอาจเริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ จับคู่สิ่งที่แตกต่างกันเชื่อมเข้าหากัน บางคนอาจพัฒนาสิ่งเดิมให้ดีขึ้น ทำให้ของที่เคยแพงราคาถูกลง หรือทำให้ของที่พบเห็นได้ทั่วไปมีมูลค่าเพิ่มขึ้น


แผนภาพแสดงขั้นตอนการเริ่มธุรกิจใหม่

จากแผนภาพด้านบนจะเห็นได้ว่าการเริ่มธุรกิจใหม่นั้นเริ่มต้นได้จากหลากหลายปัจจัย เริ่มต้นจากโอกาสใหม่ ๆ ซึ่งอาจเกิดจากความพอเหมาะพอดีกันของความต้องการในตลาดที่ยังไม่มีธุรกิจใดตอบสนองได้ มาเจอกับทรัพยากร กำลังคนที่มีอยู่ หรือเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ กลายเป็นแนวคิดทางธุรกิจ (Business Concept) ซึ่งต้องมีการประเมินโอกาสอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะพัฒนาต่อไปเป็นแผนธุรกิจที่มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย กำหนดคุณค่าที่ต้องการส่งมอบ รูปแบบการหารายได้ ทรัพยากรสำคัญที่จำเป็นต้องใช้และกิจกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ฯลฯ เรียบเรียงออกมาอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพตรงกัน


ทบทวนกระบวนการเดิม

หากมีธุรกิจเดิมที่ดำเนินมาก่อนแล้ว และต้องการจะขยับขยายไปสู่พรมแดนใหม่ ๆ หรือเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้มีความสอดคล้องกับบริบทสังคม สภาพการณ์ทางการตลาดในอนาคตมากขึ้น ควรเริ่มต้นจากการวิเคราะห์กระบวนการทำงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยหนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ SIPOC ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมของกระบวนการทำงานทุกภาคส่วน



แผนภาพสำหรับวิเคราะห์การวิเคราะห์กระบวนการทำงาน (SIPOC)

แหล่งอ้างอิง: เอกสารประกอบการเรียนหัวข้อ Business Ideation พัฒนาโดย คุณพิเชฐ ด่านไทยนำ



S มาจากคำว่า Supplier หมายถึง ผู้ส่งมอบสิ่งของหรือข้อมูล สำหรับนำไปผ่านกระบวนการ

I มาจากคำว่า Input หมายถึง สิ่งของหรือข้อมูล สำหรับนำไปผ่านกระบวนการ

P มาจากคำว่า Process หมายถึง กระบวนการแต่ละขั้นตอน ที่กระทำต่อสิ่งของหรือข้อมูล

O มาจากคำว่า Output หมายถึง สิ่งของหรือข้อมูลซึ่งผ่านกระบวนการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

C มาจากคำว่า Customer หมายถึง ผู้กำหนดความต้องการของสิ่งของหรือข้อมูล


เมื่อใส่ข้อมูลในแต่ละช่องครบแล้ว ก็ต้องค่อยๆ ลากเส้นต่อจุดในแต่ละส่วน เพื่อแสดงความสัมพันธ์ที่แต่ละช่องเชื่อมโยงกัน เพื่อแสดงกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ

แผนภาพแสดงตัวอย่างการเชื่อมโยงปัจจัยต่าง ๆ ในกระบวนการทำงาน

แหล่งอ้างอิง: เอกสารประกอบการเรียนหัวข้อ Business Ideation พัฒนาโดย คุณพิเชฐ ด่านไทยนำ



จากวิธีการดังกล่าวจะทำให้เจ้าของธุรกิจมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละส่วนของกระบวนกาารทำงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจปรับปรุง แก้ไข ขยับขยาย ยุติกิจการเดิม เริ่มธุรกิจใหม่ได้อย่างมั่นใจ ก่อนที่จะไปเริ่มคิดไอเดียธุรกิจใหม่ให้ตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง



คิดอย่างนักออกแบบ

เมื่อตั้งใจจะริเริ่มธุรกิจใหม่ ไม่ว่าคุณจะเริ่มต้นคิดจากสิ่งที่มีหรือสิ่งที่ฝัน ก็จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมสำหรับธุรกิจผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งทิม บราวน์ ผู้บริหาร IDEO เคยกล่าวไว้ว่าเป็นการนำสิ่งที่มนุษย์ต้องการ สิ่งที่เทคโนโลยีเอื้อให้เป็นจริงได้ และสิ่งที่เป็นไปได้ทางเศรษฐกิจมารวมกัน เป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้ที่ไม่เคยฝึกเป็นนักออกแบบมีความสามารถที่จะคิดสร้างสรรค์


หนังสือ DESIGN THINKING : LEARNING BY DOING การคิดเชิงออกแบบ: เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)​​ อธิบายถึงความสำคัญของกระบวนการคิดเชิงออกแบบไว้ว่ามีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเปิดตัวหรือวางตลาดสิ่งใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้แบบก้าวกระโดด ไปพร้อมกับส่งเสริมวัฒนธรรมความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร ทำให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มที่

กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้



รู้สึก-Empathize

ทำความเข้าใจปัญหา เข้าใจถึงสถานการณ์ เข้าใจประสบการณ์ รวมถึงความรู้สึกที่ผู้ใช้และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยการสังเกต ลองเรียนรู้ประสบการณ์ด้วยตัวเอง การสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) การวิเคราะห์เส้นทางประสบการณ์ (User Experience Map) เพื่อให้เข้าใจปัญหาในทุกมิติของกลุ่มเป้าหมายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง


แผนภาพแสดงลำดับขั้นตอนการสัมภาษณ์ในขั้นตอนรู้สึก-Empathize

แหล่งอ้างอิง: เอกสารประกอบการเรียนหัวข้อ Business Ideation พัฒนาโดย คุณพิเชฐ ด่านไทยนำ



นึก-Define

กำหนดโจทย์ที่ต้องการแก้ไขให้ชัดเจน ทำอย่างรอบคอบ โดยนำปัญหาที่ได้ค้นพบจากขั้นตอนรู้สึก-Empathize มาแยกแยะ แบ่งกลุ่ม จัดเรียงลำดับความสำคัญ เพื่อนำมาตั้งโจทย์ทางนวัตกรรมที่ระบุชัดเจนถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขอบเขตปัญหาที่ต้องการแก้ ระยะเวลาที่ใช้ และผลที่คาดว่าจะได้รับหลังจากแก้ปัญหาได้


ภาพแสดงเครื่องมือที่ใช้กำหนดโจทย์ในขั้นตอนนึก-Define

แหล่งอ้างอิง: เอกสารประกอบการเรียนหัวข้อ Business Ideation พัฒนาโดย คุณพิเชฐ ด่านไทยนำ



คิด-Ideate

สร้างไอเดียที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาจากโจทย์ที่วางไว้ โดยเน้นปริมาณไอเดียเป็นสำคัญ ช่วยกันระดมสมองออกไอเดียให้ได้มากที่สุด ด้วยวิธีคิดแบบ How Might We “จะดีกว่าไหม ถ้า…” โดยส่วนใหญ่นิยมให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการนี้ช่วยกันเขียนไอเดียของตัวเองลงในโพสต์อิต หรือกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ให้แต่ละคนเล่าไอเดียของตัวเองแล้วให้คนอื่น ๆ ช่วยกันสร้างไอเดียต่อจากความเห็นของกันและกันไปเรื่อย ๆ (Yes, and…) จากนั้นจึงนำไอเดียที่น่าสนใจมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ โดยใช้หลักการคิด Human-centered design การออกแบบโดยมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง


ภาพแสดงเครื่องมือที่ใช้กำหนดโจทย์ในขั้นตอนคิด-Ideate

แหล่งอ้างอิง: เอกสารประกอบการเรียนหัวข้อ Business Ideation พัฒนาโดย คุณพิเชฐ ด่านไทยนำ



สร้าง-Prototype

สร้างต้นแบบอย่างง่าย ๆ เพื่อทดลองใช้กับผู้ใช้งานจริงและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ใช้เครื่องมือ สร้างต้นแบบออนไลน์ หรือใช้งานฝีมือประดิษฐ์ขึ้นจากอุปกรณ์ใกล้ตัว ไม่เน้นความสมจริงในเบื้องต้น แต่เป็นการทดลองทำให้ผู้ทดลองใช้งานเห็นภาพตรงกัน


ภาพแสดงตัวอย่างของต้นแบบนวัตกรรมในขั้นตอนสร้าง Prototype แหล่งอ้างอิง: https://www.interaction-design.org/literature/article/stage-4-in-the-design-thinking-process-prototype



ทดสอบ-Test

นำต้นแบบนวัตกรรมไปทดสอบกับผู้ใช้งานจริง โดยมีการวางแผนการทดสอบอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกและระบุกลุ่มเป้าหมายตัวอย่าง วิธีการเก็บข้อมูล ระยะเวลาการเก็บข้อมูล และวิธีการวิเคราะห์ผล จากการทดสอบ จากนั้นนำผลการทดสอบไปพัฒนาไอเดียต่อไป


ผู้ร่วมกระบวนการนี้ทุกคน ควรฝึกฝน Design Thinking Mindset อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการ ลงมือทำจริง ให้ความสำคัญกับกระบวนการ ชวนกันคิด ช่วยกันนำเสนอโดยไม่ชี้นำหรือตัดสินความคิดของผู้อื่น เปิดรับความรู้ ความร่วมมือจากหลากหลายสาขา ใส่ใจกับความรู้สึกนึกคิดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการออกแบบ และมองหาต้นแบบที่เหมาะสมกับบริบท



แผนภาพแสดงลำดับขั้นตอนการคิดสร้างสรรค์ด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

แหล่งอ้างอิง: เอกสารประกอบการเรียนหัวข้อ Business Ideation พัฒนาโดย คุณพิเชฐ ด่านไทยนำ


เมื่อไอเดียใหม่เกิดขึ้นและผ่านการพิสูจน์จนเป็นที่ยืนยันได้แล้วว่านี่คือสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ ขั้นตอนต่อไปก็คือการประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจ (Feasibility) ซึ่งต้องใช้ควบคู่ไปกับแผนธุรกิจ (Business Model) หากยังไม่มั่นใจที่จะลองเริ่มด้วยตัวเอง มาเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพที่หลักสูตรการสร้างสรรค์และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจใหม่ Mini MBA - New Business Creation & Feasibility Analysis รุ่น 2 รายละเอียดหลักสูตรได้ที่ https://www.neobycmmu.com/mini-mba-new-business-creation



อ้างอิง



11 views0 comments
bottom of page