คีย์เวิร์ดเทรนด์อนาคตของการตลาดดิจิทัล ปี 2022

คีย์เวิร์ดเทรนด์อนาคตของการตลาดดิจิทัล ปี 2022
เตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในโลกดิจิทัลได้ตั้งแต่ตอนนี้ ด้วยการทำความรู้จักคีย์เวิร์ดสำคัญที่จะช่วยทำให้แคมเปญออนไลน์ได้ผลดียิ่งกว่าเดิม
1. No-Click Searches
ค้นแบบไม่ต้องคลิก ด้วย No-click Searches หรือ Zero-click Searches ซึ่งเป็นการค้นหาข้อมูลจาก Google ที่แสดงผลข้อมูลในหน้าเดียวกับที่ผู้ใช้งานพิมพ์ข้อความค้นหาทันที (SERP) ตอบคำถามคาใจแบบทันทีทันควันไม่ต้องอารัมภบทยืดยาว เช่นเมื่อเราอยากรู้เวลาเปิดปิดทำการของสถานที่ท่องเที่ยวสักแห่ง เพียงพิมพ์ชื่อสถานที่ ตามด้วยคำเวลาทำการ ข้อมูลที่ต้องการก็จะปรากฏขึ้นทันที Search Engine Journal ให้ข้อมูลว่ากว่า 34.4% ของผลกรค้นหาด้วยคอมพิวเตอร์ จะเป็น No-click Searches และผู้ใช้งานค้นหาผ่านสมาร์ทโฟน 62.5% ไม่กดลิงก์เข้าไปอ่านต่อ
จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่าการใช้งาน Search Engine ของคนในปัจจุบันนั้นไม่ได้เพียงต้องการหาข้อมูลด้วยการอ่านบทความอันยืดยาว แต่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่คอยหาคำตอบข้อสงสัย เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกร้านอาหาร วางแผนการเดินทาง ตรวจสอบค่าเงินเมื่อจะช้อปปิ้งสินค้าจากต่างประเทศ นับว่าเป็นเทรนด์การใช้งานค้นหาข้อมูลที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา และจะยังคงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปีหน้าด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างของ No-click Searches สรุปได้เป็น 3 รูปแบบที่พบเห็นบ่อย ได้แก่ Database-style searches แสดงผลเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานเช่น วันสำคัญ เวลาในประเทศต่าง ๆ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา อายุบุคคลสำคัญ ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ฯลฯ Dictionary and encyclopedia-style searches: แสดงผลเกี่ยวกับนิยามของสิ่งต่าง ๆ คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คล้ายการทำงานของสารานุกรม และสุดท้าย Map direction-style searches แสดงผลการค้นหาสถานที่ที่ต้องการซึ่งอยู่ในระยะใกล้เคียง ด้วยการพิมพ์ชื่อประเภทสถานที่แล้วตามด้วยคำว่า “ใกล้ฉัน (near me)”
วิธีการที่จะทำให้สินค้าหรือบริการของคุณขึ้นไปเป็น No-click Searches นั้นยังคงสัมพันธ์กับการทำ SEO ที่มีคุณภาพ และมีคุณค่าต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ตอบคำถามที่อาจจะมีคนสงสัยไว้ให้ได้มากที่สุด คัดสรรชื่อหัวข้อบทความที่กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ แต่มีคำสำคัญที่ผู้ใช้งานสนใจครบถ้วน และเลือกใช้ Google My Business เพื่อเพิ่มข้อมูล คัดเลือกภาพสวย ๆ เกี่ยวกับธุรกิจเข้าไปด้วยตัวเอง
2. Google Verified Listings Google My Business เป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ฟรีและมีประโยชน์กว่าที่คิดสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่อยากมีพื้นที่ในโลกออนไลน์มากขึ้น เมื่อลงทะเบียนใช้งาน Google My Business และกรอกข้อมูลอย่างครบถ้วนแม่นยำแล้ว จะทำให้มีหมุดที่แน่ชัดใน Google Maps จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ ต่อลูกค้าที่กำลังมองหาสินค้าหรือบริการมาช่วยแก้ปัญหาของพวกเขา และประหยัดเวลาในการค้นหาที่ตั้งของที่ทำการธุรกิจ สำหรับลูกค้าที่จะเดินทางมาใช้บริการ ไปจนถึงไม่ต้องเสียเวลาไปกับการโทรศัพท์บอกทางพนักงานส่งเอกสารด้วย
การกรอกข้อมูลเกี่ยวกับวันเวลาทำการ เวลาเปิดปิด ลิงก์เว็บไซต์ เฟซบุ๊กเพจ และรีวิวของผู้ใช้งานจะช่วยให้ผู้ใช้งานที่ผ่านมาพบเห็นสามารถเข้าใจภาพรวมของธุรกิจได้อย่างง่ายดาย และเพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงควรเข้าไปเป็น Google Verified Listings เพื่อให้สามารถจัดการแก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้ตลอดเวลา สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้มากกว่า และป้องกันการมีผู้อื่นมาสวมสิทธิ์แสดงตัวเป็นเจ้าของ
3. Voice Search
การค้นหาข้อมูลผ่านเสียง เป็นเทคโนโลยีได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Alexa, Siri , Cortana และ Google Voice Search กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นเพื่อนคู่คิดในชีวิตประจำวันทั้งผ่านอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมารองรับการสั่งงานด้วยเสียงโดยเฉพาะและการทำงานผ่านสมาร์ทโฟน ข้อมูลจากการสำรวจของ Tech Crunch ในปี 2020 พบว่าหลังการระบาดของโควิด 19 ผู้ใช้งาน Smart Speakers อายุระหว่าง 18-34 ปี ให้ข้อมูลว่าตนเองใช้งาน Smart Speakers สำหรับความบันเทิงมากขึ้น 52% และในปี 2020 ยอดขายของ Amazon Echo powered by Alexa ก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 74% เลยทีเดียว
เมื่อเปลี่ยนมาใช้เสียงค้นหาข้อมูล พบว่าผู้ใช้งานจะใช้ประโยคที่ไม่เป็นทางการ และใช้คำที่ยาวกว่าการพิมพ์ลงในช่องค้นหาโดยทั่วไป ตัวอย่างเช่น การพูดว่า “ร้านเสริมสวยที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหน” ในขณะที่เมื่อพิมพ์ข้อความ เราจะใช้เพียง “ร้านเสริมสวย ใกล้ฉัน” หรือ ร้านเสริมสวย ตามด้วยชื่อย่านที่อยู่อาศัย แสดงให้เห็นว่าเมื่อเครื่องมือเปลี่ยน คำค้นหาก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เมื่อนักการตลาดดิจิทัลวางทิศทางการผลิตเนื้อหา จึงต้องไม่ลืมที่จะกำชับนักเขียนให้เลือกใช้คำสำคัญที่อยู่บนพื้นฐานของคำถามที่คนมักใช้กับการค้นหาข้อมูลผ่านเสียง เพื่อทำให้สินค้าและบริการที่กำลังทำการตลาดอยู่นั้นมีผู้ค้นพบมากขึ้น
4. Visual Search
ค้นข้อมูลจากภาพ ด้วยการอัปโหลดภาพเข้าไปในระบบการค้นหา เพื่อให้โปรแกรมช่วยวิเคราะห์และหาผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับภาพนั้นขึ้นมา เป็นตัวช่วยที่กำลังมาแรงสำหรับการค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวหนังสืออีกต่อไป ขณะที่คุณกำลังชมซีรีส์เรื่องโปรดแล้วเกิดถูกใจโซฟาในบ้านพระเอกก็สามารถใช้เครื่องมือ Visual Search สำหรับตามหาแบรนด์โซฟา พร้อมราคาได้โดยไม่ต้องตั้งกระทู้ถามตามเว็บบอร์ดเหมือนแต่ก่อน
ปัจจุบันมี Google Lens ซึ่งเป็นเทคโนโลยี Image Recognition ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยระบุวัตถุที่ปรากฏในภาพ และค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แต่มั่นใจได้เลยว่าจะมีเครื่องมือใหม่ๆ ออกมาอีกแน่นอน เพราะ Visual search มีแต่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 62% ของมินเลนเนียลชื่นชอบการค้นหาสินค้าด้วยภาพ เนื่องจากมินเลนเนียลรวมไปถึงเจน Z นั้นคุ้นเคยดีกับ Visual Culture ให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านภาพเป็นหลัก
นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับนักการตลาดดิจิทัลที่จะต้องสื่อสารด้วย Key Visual ที่โดดเด่นมากพอจะสื่อ “สาร” ที่ต้องการนำเสนอออกไปได้อย่างชัดเจน
5. Online Reviews
รีวิวนั้นสำคัญแค่ไหน ใคร ๆ ก็รู้ ยิ่งการซื้อสินค้าออนไลน์เฟื่องฟูขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ยิ่งส่งผลให้รีวิวทวีความสำคัญขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลวิจัยจาก Neilson ใน Global Trust in Advertising and Brand Messages ยิ่งตอกย้ำประโยคข้างต้นที่กล่าวมา เพราะกว่า 94% ของผู้บริโภคในเอเชียเชื่อคำแนะนำจากเพื่อน หรือคนรู้จัก 76% ของผู้บริโภคให้น้ำหนักกับความคิดเห็นของผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์คนอื่น ๆ บนโลกออนไลน์ เทียบกับจำนวนผู้ที่เชื่อโฆษณาของแบรนด์ในโซเชียลมีเดียมีเพียงแค่ 42% เท่านั้น
นอกเหนือจากแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนมักเลื่อนอ่านรีวิวกันอย่างจริงจังแล้ว Google Business หรือแฮชแท็กในเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ก็เป็นอีกจุดที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นพื้นที่สร้างลูกค้าหน้าใหม่ได้อย่างคาดไม่ถึง นอกจากเนื้อหาของรีวิวแล้ว จำนวนรีวิวก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะต่อให้ได้เรตติ้งดีแต่มีคนรีวิวน้อยก็อาจจะไม่น่าดึงดูดใจเท่า เรตติ้งปานกลางแต่มีรีวิวนับร้อยให้เห็นว่ามีคนมาซื้อสินค้า ใช้บริการแล้วเป็นจำนวนมาก