top of page

ใครเป็นคนสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่แท้จริง


การเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 200 ปีเกิดขึ้นเมื่อยุคดิจิทัลเดินทางมาถึง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำว่า Digital Transformation ได้ถูกฝังอยู่ในภารกิจหลักของผู้นำองค์กร จริงอยู่ที่ผู้นำคือบุคคลที่สำคัญที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะการเป็นผู้นำแปลว่ามีผู้ตาม แต่อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ผู้ตามกลุ่มใหญ่คล้อยตาม และยอมขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกันทั้งองคาพยพ




ต้องยอมรับก่อนว่า "ผู้ตามในองค์กร" ไม่ได้มีเพียงระดับเดียว พนักงานในองค์กรล้วนมีคาแรกเตอร์แตกต่างกันทั้งจากตำแหน่งงาน อายุงาน ประสบการณ์ทำงาน หรือทัศนคติต่องาน สังคม เทคโนโลยี จึงนับเป็นความท้าทายของผู้นำที่จะต้องเริ่มหาหมุดหมายแรกในการปรับองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลไปทีละขั้น แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่การนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาโยนใส่ในองค์กร แต่คือการนำกลุ่มคนที่พร้อมที่สุดไปกับเราก่อนและต้องเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อเพื่อนร่วมงานทั้งองค์กรด้วย


จากทฤษฎีการแพร่กระจายของนวัตกรรม (Diffusion of Innovations) ของ Everett Rogers ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสาร ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1962 ซึ่งนับเป็นตำราสุดคลาสสิกในการศึกษาเทรนด์และการทำความเข้าใจเรื่องการแพร่ความคิดและนวัตกรรมไปสู่สังคม แสดงให้เห็นว่า การยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ต้องใช้เวลา มีกลุ่มคนที่มีความพร้อมมากน้อยต่างกันและจำนวนต่างกัน ดังนี้





Innovators จำนวน 2.5% คือ ผู้ที่ชอบเสี่ยง มีความรู้ เป็นนักประดิษฐ์หรือมีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยี เปรียบเสมือน “ผู้นำในองค์กร” ที่เห็นสัญญาณอันน่ากลัวของ Digital Disruption ก่อนคนอื่น รู้ว่าองค์กรต้องหาทางรอดใหม่ จึงริเริ่มนำนโยบาย Digital Transformation มาปรับใช้


Early Adopters จำนวน 13.5 % คือ กลุ่มที่ชอบลองอะไรใหม่ ๆ และค่อนข้างมีฐานะ อาจเป็นนักวิชาการหรือคนดังในสังคม เปรียบเสมือน “คณะผู้บริหารระดับสูง” ในองค์กรที่คอยเป็นที่ปรึกษาและสนองนโยบายผู้นำ มีความเข้าใจที่รวดเร็วแต่ยังต้องอาศัยเวลาในการลองผิดลองถูก


Early Majority จำนวน 34% คือ คนกลุ่มใหญ่ที่กว่าจะตัดสินใจได้ต้องคิดหลายรอบ ต้องเห็นประโยชน์ของการนำมาใช้ที่แท้จริง การตัดสินใจเลือกของกลุ่มนี้มักดูจากการตัดสินใจของสองกลุ่มแรก การเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับนี้จะมีแรงกระเพื่อมมหาศาลเพราะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มใหญ่ สังเกตุได้จากกราฟเส้นสีเหลือง (ระดับส่วนแบ่งทางการตลาด) ที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วแบบติดจรวด เปรียบเสมือน “ผู้บริหารระดับกลาง” ที่ได้ไตร่ตรองนโยบายแล้วเห็นถึงประโยชน์และเห็นความเป็นไปได้ในการปฏิบัติจริง เมื่อเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรจะยิ่งทำให้ภาพของการทรานสฟอร์มชัดขึ้นและกลายเป็นตัวเร่งให้คนกลุ่มอื่นตามมา


Late Majority จำนวน 34% คือ กลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้งานจริง ๆ แต่นวัตกรรมนั้นอาจเริ่มตกรุ่นไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีนั้นเข้าถึงการยอมรับของคนกลุ่มนี้ได้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เปรียบเสมือน “พนักงานระดับปฏิบัติการ” ที่ได้รับการมอบหมายจากผู้บริหารระดับกลางให้ปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ยังเห็นการเปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมของลูกค้าหรือสภาพตลาดในปัจจุบันเมื่อทุกอย่างเข้าสู่โลกดิจิทัล การทำงานก็ต้องหันทิศไปทางดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


Laggards จำนวน 16% คือ กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเมื่อตกรุ่นไปแล้ว และเป็นกลุ่มสุดท้ายในสังคม กลุ่มนี้จะเลือกซื้อโดยสอบถามข้อมูลจากคนรอบข้าง เปรียบเสมือน “พนักงานที่ไม่ยอมปรับตัว” ซึ่งเป็นไปได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง กลาง ล่างที่ยังยึดติดกับการทำงานแบบเดิม ๆ ไม่เปลี่ยน mindset และยอมนำเทคโนโลยีมาใช้เพียงเพราะทั้งองค์กรได้ปรับเปลี่ยนไปหมดแล้ว


ในมุมของการผลิตนวัตกรรม ลูกค้ากลุ่มสุดท้ายนี้เป็นเพียงผลพลอยได้ช่วงสุดท้ายของวงจร ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการชนะใจลูกค้ากลุ่มนี้ ฉันใดฉันนั้น ในมุมขององค์กรก็ไม่มีความจำเป็นต้องดูแลพนักงานกลุ่มสุดท้ายนี้มากนัก เพราะกลุ่มใหญ่ได้เปลี่ยนตัวเองกันไปหมดแล้ว นั่นอาจหมายถึงจุดจบของการทำงาน หากใครยังปล่อยให้ตัวเองอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายอยู่เสมอ


ใครเป็นคนสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่แท้จริง?

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากทฤษฎี Diffusion of Innovations คือ คนตรงกลาง (Early majority) สำคัญที่สุด ถ้าตรงกลางมีจำนวนมากและยังหยุดอยู่กับที่ จะไม่สามารถก่อให้เกิดมวลวิกฤต (Critical mass) ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ ผู้บริหารระดับกลางจึงเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมนโยบายจากระดับสูงลงไปสู่ระดับปฏิบัติการ และทำให้เกิดขึ้นจริง


อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้บริหารระดับกลางไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยตำแหน่ง แต่หมายถึงการเข้าใจวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูง และเห็นความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติในระดับปฏิบัติการ ซึ่งหากใครมีคุณสมบัติตรงนี้ครบถ้วน ย่อมเป็นบุคลากรที่ผู้นำอยากพาร่วมเดินทางไปบนโลกยุคดิจิทัลและการเติบโตขึ้นสู่การเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน


เตรียมพร้อมธุรกิจ ติดอาวุธสู่ยุคดิจิทัล กับ Mini MBA: Digital Business Management #4 (หลักสูตรการบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล รุ่นที่ 4) เรียนสดออนไลน์แบบ NEO Interactive สื่อสารแบบ Real-Time กับคณาจารย์และผู้บริหารมากประสบการณ์ด้านธุรกิจดิจิทัล รายละเอียดหลักสูตร



2 views0 comments

Comments


bottom of page